ก.ค. 21 2567
เผยวิธีทำงานอย่างมีจริยธรรมและเป็นไปตามข้อบังคับในสายงานที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศไทย
หัวข้อที่ครอบคลุม
สิ่งท้าทายจริยธรรมมีอยู่ทั่วไป
การทำงานอย่างมีจริยธรรมถือเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานทุกแขนงที่ผลประโยชน์ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง จากบทความบนเว็บไซต์ Navex.com ที่รายงานผลการสำรวจจริยธรรมธุรกิจทั่วโลกประจำปี 2566 ของ ECI ที่เผยให้เห็นถึงความจริงที่น่าตกใจของโปรแกรม E&C (Ethics and Compliance Program) ที่เล่าถึงการทำงานของคนทั่วโลกและความเสี่ยงที่พวกเขาจะต้องพบเจอกับการทำงานหรือเหตุการณ์ที่ท้าทายจริยธรรมในวิชาชีพ ผลสำรวจนี้ได้เก็บข้อมูลจากพนักงานกว่า 70,000 คนใน 42 ประเทศทั่วโลก พบกว่า 65% ของพนักงานได้พบเจอกับการทำงานที่ผิดต่อจรรยาบรรณ, จริยธรรมและข้อบังคับในงาน
ในงานที่มีผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมาเป็นที่ตั้งในการทำงาน อาธิ งานขาย, งานที่ปรึกษาที่มีที่มาของรายได้ผ่านยอด commission, งานที่มีผลประโยชน์ของหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืองานที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้า งานเหล่านี้อาจทำให้แนวโน้มของการทำผิดจริยธรรมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการนั้นเกิดได้ง่ายขึ้น ที่ปรึกษาทางการเงินก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่รายได้นั้นผันแปรตามหลายปัจจัยจึงอาจทำให้การยึดมั่นถือมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงานเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
คุณเกร็ดแก้วมณี หวังวีระ สมาชิก MDRT จากจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่มีเรื่องของจริยธรรมในการทำงานเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่า “เคยเจอในบางกรณีที่ลูกค้ามาขอเราว่าไม่เปิดเผยข้อมูลหรือช่วยปกปิดประวัติของเขาในการที่จะทำการซื้อกรมธรรม์ได้หรือไม่ ส่วนมากจะเป็นการขอให้ช่วยปกปิดประวัติสุขภาพที่เป็นมาก่อนจะซื้อกรมธรรม์ โดยในกรณีนี้เราก็ได้เรียนแจ้งลูกค้าตามตรงว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากผิดจรรยาบรรณข้อที่ 4 ของวิชาชีพที่มีใจความว่า “เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกันภัยในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อการพิจารณารับประกันหรือเพิ่มความสมบูรณ์แห่งกรมธรรม์” อีกทั้งยังจะส่งผลเสียต่อลูกค้าในระยะยาวอีกด้วย เราได้อธิบายถึงสาระสำคัญในการทำประกันแก่ลูกค้าเพิ่มไปถึงการที่ต้องแถลงข้อมูลตามความเป็นจริง และทำให้ลูกค้าเล็งเห็นถึงปัญหาการเคลมไม่ผ่านหรือบริษัทยกเลิกกรมธรรม์จากเหตุผลดังกล่าว ผลสุดท้ายคือลูกค้าเข้าใจและยินยอมที่จะดำเนินการตามคำแนะนำของเรา”
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่คุณเกร็ดแก้วมณีได้พบเจอระหว่างการทำงาน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม การทำงานตามจรรยาบรรณและผลประโยชน์ของตัวที่ปรึกษาทางการเงินโดยตรง โดยคุณเกร็ดแก้วมณีเล่าว่า “อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอบ้างในบางครั้ง คือการที่ลูกค้าขอส่วนลด โดยเหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เราออกไปลงพื้นที่ตลาดจริงและพบเจอผู้คนมากมาย ลูกค้าที่เข้ามาคุยกับเราก็จะพูดในเชิงที่ว่าตัวลูกค้าเคยได้รับส่วนลดหรือของสมนาคุณอื่นๆ จากตัวแทนท่านอื่น เลยอยากจะได้จากเราด้วยเช่นกัน โดยในตอนนั้นเราก็ได้เรียนแจ้งกลับไปตามตรงว่าการได้รับสวนลดหรือของสมนาคุณนอกเหนือจากทางบริษัทโดยตรงนั้นถือเป็นสิ่งที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ และ ไม่ควรเกิดขึ้นเลย ตามจรรยาบรรณข้อที่ 6 ว่าด้วยเรื่องของจรรยาบรรณและศีลธรรมของตัวแทนประกันชีวิตกล่าวไว้ว่า “ไม่ลดหรือเสนอที่จะลดค่าบำเหน็จ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอาประกันภัย” การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ดีควรนำเอาผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหากรรมธรรม์โดยตรงของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ผลตอบแทนในรูปแบบของค่าคอมมิชชั่นสำหรับที่ปรึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังอธิบายให้เห็นถึงการได้ประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่ลูกค้าได้รับประโยชน์จากความคุ้มครองที่ลูกค้าได้เลือกสรรตามความต้องการ ในขณะเดียวกันที่ปรึกษาก็ได้รับผลประโยชน์นี้ในรูปแบบของคอมมิชชันเป็นรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกค้าและพัฒาตนเอง รวมถึงการดูแลจุนเจือครอบครัวอีกด้วย”
ทำงานอย่างมีจริยธรรมแบบถูกต้องตามกฏและข้อบังคับ
แต่ละคนอาจตีความการทำงานอย่างมีจริยธรรมแตกต่างกันออกไป สำหรับคุณเกร็ดก้วมณีแล้วการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการมีจรรยาบรรณที่ดี มีศีลธรรม และมีแนวทางปฏิบัติตนตามใบประกอบวิชาชีพ 4 อย่างดังนี้
- มีความเอื้ออาทร มีจิตและความตั้งใจในการเป็นผู้ให้อย่างจริงใจ
- สร้างความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า
- คิดเผื่อแผ่คนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
- เคารพซึ่งกันและกัน
นอกเหนือจากในเชิงความคิดและจิตใจแล้ว ที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องดำเนินการละผ่านข้อบังคับรวมถึงกฏดังต่อไปนี้เผื่อจะดำเนินงานในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินอย่างถูกต้องตามกฏหมายในประเทศไทย โดยที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องได้รับ IC License หรือใบอนุญาตสำหรับผู้แนะนำการลงทุนเพื่อช่วยวางแผยการเงินให้แก่ลูกค้า และหากที่ปรึกษาทางการเงินนั้นต้องการที่จะเป็นตัวแทนสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตจะต้องผ่านขั้นตอนดังต่อไปนี้
- สอบผ่านและได้รับใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิต
- ต่ออายุใบอนุญาตทุก 1 ปี ติดต่อกัน 3 ปี พร้อมอบรม 6 ชั่วโมง
- ต่อใบอนุญาตครั้งที่ 4 (สำหรับการต่ออายุ 5 ปี) และอบรม 30 ชั่วโมง
คุณเกร็ดแก้วมณียังเสริมอีกว่าตัวเธอเองนั้นยังมีอีก 1 ใบอนุญาตนั่นคือ IP หรือ Investment Planner ซึ่งได้รับมาตั้งแต่ตอนทำงานในด้านสายการเงินในธนาคาร จึงทำให้เธอนั้นได้ให้คำปรึกษาลูกค้าในด้านสายการเงิน การลงทุน และด้านประกันชีวิตควบคู่กันมาตลอด โดยคุณเกร็ดแก้วมณีกล่าวอีกว่า “ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินไม่ได้มีผลต่อการทำงานแต่อย่างใดเพียงแต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ตามระเบียบ เพราะเชื่อว่าทุกอย่างที่กำหนดมาคือการทำงานอย่างถูกต้องและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการแนะนำในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าและการวางแผนการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ความรู้ทั้งหมดของผู้ขายและใบอนุญาต ทั้งหมดคือพื้นฐานของการออกไปทำงานได้อย่างถูกต้อง”
แนะวิธีเอาชนะสิ่งล่อใจ
คุณเกร็ดแก้วมณีกล่าวปิดท้ายพร้อมแนะนำวิธีเอาชนะใจของตัวเองในช่วงที่พบเจอเหตุการณ์ที่ท้าทายกับจรรยาบรรณในการทำงานว่า “ตลอดเส้นทางการเดินทางทำงานมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เราพบเจอปัญหาจากการทำงานและเจอผู้คนหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบไม่ถูกต้องและไม่ถูกใจ แต่เราก็ต้องเข้าใจในธรรมชาติของคนที่จะต้องเจอทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไป การทำงานที่ต้องเจอบททดสอบในการทำผิดจริยธรรมให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจอาจทำให้เราทำผิดจริยธรรมได้ง่ายมาก ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งหรือหนักแน่นไม่พอ ไม่ยืนหยัดกับสิ่งที่เป็น ก็อาจจะก้าวพลาดได้ สิ่งที่พาเราก้าวข้ามเรื่องราวเหล่านั้นมาได้คือตั้งสติ ยืนหยัด และ บอกตัวเองเสมอว่าเรามีอุดมการณ์ในอาชีพและหน้าที่ อีกทั้งยังมีจิตที่ตั้งใจทำงานนี้อย่างถูกต้องเพื่อยกระดับภาพลักษณ์การทำงานตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงินให้ดีที่สุด ให้สมกับความตั้งใจในการสร้างประโยชน์และช่วยเหลือผู้คนเพราะทุกอาชีพมีคุณค่าในตัวเอง ในทุกการกระทำจะส่งผลสะท้อนถึงเราเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องร้ายหรือดี สติและปัญญาในการแก้ปัญหาและหลักความถูกต้องจะช่วยนำพาเราไปสู่ ทิศทางที่ดีและทุกปัญหามีทางออกเสมอ“
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com