ก.ค. 18 2567
การวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลนำลูกค้าสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
หัวข้อที่ครอบคลุม
ประเทศไทย จะมาแบ่งปันเทคนิคที่ตนเองใช้จากประสบการณ์จริงในการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าแต่ละรายได้อย่างตรงจุด และช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงใจ
คุณปฏิพร ภมร สมาชิก MDRT จากจังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินว่า “ผมเข้าเรียนและสอบหลักสูตร CFP ฉบับที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ และฉบับที่ 2 การวางแผนลงทุน และขึ้นทะเบียนเป็น คุณวุฒิวิชาชีพผู้ช่วยนักวางแผนการเงินAFPT คุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน (Associate Financial Planner Thailand, AFPT™) AFPT™ เป็นคุณวุฒิ ผู้ประกอบวิชาชีพที่รับรองโดยสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ซึ่ง รับรองความสามารถของที่ปรึกษาการเงินในการให้บริการวางแผนหรือปรึกษาการเงิน โดยแบ่งเวลาจากการทำงานเพื่อเข้าอบรมและสอบในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อช่วยพัฒนาความรู้ทางด้านการเงิน และเป็นประโยชน์ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น”
การวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลคืออะไร
ปัจจุบันเราจะเห็นว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างเริ่มผลิตออกมาพร้อมคำว่า ‘เฉพาะบุคคล’ มากขึ้น เพราะผู้ผลิตต่างเล็งเห็นถึงความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกันไปซึ่งไม่สามารถทำแบบเหมารวมได้อีกต่อไป การวางแผนทางการเงินก็เช่นเดียวกัน โดยคุณปฏิพร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าแต่ละบุคคลมีจุดแข็งที่ต้องการส่งเสริมหรือจุดด้อยที่ต้องได้รับการพัฒนาที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญของชีวิตอย่างการเงินจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับคำแนะนำที่ต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละคน “การวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคล คือการค้นหาสิ่งที่ผู้รับคำปรึกษาต้องการโดยแท้จริง ผ่านการรับฟังความฝัน และความจำเป็นในภาพรวมของแต่ละคนโดยแท้จริง เพราะผู้รับคำปรึกษามีภาพทางการเงินในอนาคต และเผชิญสถานการณ์ทางการเงินที่แตกต่างกัน รวมถึงการจัดอันดับความต้องการ และศักยภาพในปัจจุบันที่แตกต่างกัน ทำให้เป้าหมายของแต่ละคนมีความเฉพาะตัว และจะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นในผู้รับคำปรึกษาให้สามารถบรรลุแผนที่ต้องการได้”
วิธีการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคล
นอกจากการเข้าใจถึงความจำเป็นของการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลแล้ว คุณปฏิพรยังกล่าวอีกว่าการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลจะช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นในผู้รับคำปรึกษาให้สามารถบรรลุแผนที่ต้องการได้ เพราะเป็นแผนที่ที่ปรึกษาทำขึ้นเพื่อเขาอย่างแท้จริง โดยอธิบายถึงขั้นตอนการวางแผนว่า “หลังจากเข้าพบลูกค้า เราจะเริ่มด้วยการตั้งคำถามและรับฟัง เพราะคำถามที่ดี จะนำไปสู่คำตอบและข้อมูลที่ดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น หลังจากเจอกันครั้งแรก เราอาจจะต้องมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันเพิ่มเติม โดยอาจจะเริ่มนับหนึ่งจากหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง เช่นแผนโอนย้ายความเสี่ยง แผนเกษียณ หรือแผนมรดก ก่อนที่จะทบทวนและปรับปรุงให้เข้ากับความต้องการไปเรื่อย ๆ โดยแผนการเงินที่เฉพาะบุคคลนี้ ในแต่ละปีผู้ให้คำปรึกษาควรเข้าไปอัพเดทชีวิต ความคิด และสภาพปัจจุบันของผู้รับคำปรึกษา เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของแผนที่ทำไปแล้ว และเริ่มต้นกับแผนที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ เพื่อให้ยังคงเกิดประสิทธิภาพและความเป็นส่วนตัวสูงสุด”
โดยคุณปฏิพรได้ยกตัวอย่างลูกค้าท่านหนึ่งที่ได้รับการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการสูงสุดและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ “ลูกค้าท่านหนึ่งของผมต้องการออมเงินเดือนละ 10% ของรายได้โดยวาดฝันที่กองทุนที่จะเติบโตในวันเกษียณ แต่ในระหว่างทางการเก็บออมกลับรู้สึกปวดท้องด้านขวาอย่างรุนแรง เมื่อตัดสินใจเข้าพบแพทย์จึงทราบว่าเป้นไส้ติ่งอักเสบที่ต้องผ่าตัด พยาบาลแจ้งการประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้นทั้งการตรวจ และแผนการรักษา 250,000 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว อย่างไรก็ตามขอบคุณการติดกระดุมเม็ดแรกของแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลที่ช่วยปกป้องความฝันวันเกษียณของลูกค้าท่านนี้ไว้ เพราะเราทราบอยู่ก่อนแล้วว่าความต้องการปลายทางคืออะไร เราต้องจ่ายเท่าไรต่อปี เพื่อโอนย้ายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น ค่าห้องพักผู้ป่วย ค่ารักษาที่เพียงพอ หากก่อนหน้านั้นลูกค้าท่านนี้ไม่มีแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลที่มารองรับเป้าหมายปลายทาง ลูกค้าอาจผัดผ่อนและไม่เริ่มดำเนินการแผนการเงินที่จำเป็นใด ๆ ณ วันนั้นที่เกิดรายจ่ายที่ไม่คาดคิดในโรงพยาบาลก็เป็นได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เงินที่ผู้รับคำปรึกษาตั้งใจที่จะเก็บไว้ใช้ในวันเกษียณอาจต้องยุติ และไม่อาจเป็นจริงได้ในที่สุด”
ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นอยู่เสมอ
การวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลก็เหมือนกับการวางแผนการเงินทั่วไปที่เหล่าที่ปรึกษาต้องเผชิญกับความท้าท้ายที่เกิดขึ้นระหว่างทางถึงแม้จะเป็นการวางแผนที่ตรงใจลูกค้าแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากความจำเป็นต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่คาดคิด ก็อาจส่งผลให้แผนที่วางไว้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ อย่างไรก็ดี คุณปฏิพรได้ให้คำแนะนำว่า เราอาจมีแบบการเงินแบบเฉพาะบุคคลที่สร้างให้แก่ลูกค้าใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จริง ๆ แล้วเมื่อได้คุยกันเราอาจลองขยายความต้องการของลูกค้าและมีแผนอื่น ๆ ไว้รองรับความต้องการที่อาจงอกเงยขึ้นได้ในอนาคต เผื่อให้เกิดความยืดหยุ่นระหว่างกันมากขึ้น
คุณปฏิพร อธิบายเพิ่มเติมว่า “ผมจะมีการวางแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคลที่ขยายขึ้นได้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 แผน ได้แก่ 1. Prevention Plan คือการวางแผนในการโอนย้ายความเสี่ยง ที่จะต้องเตรียมการให้เหมาะสมหากเกิดไม่คาดฝันอย่างเคสลูกค้าข้างต้น 2. Retirement Plan เป็นแผนการการเงินที่มีความสำคัญอีกหนึ่งแผน เพราะคนโดยทั่วไปมีกำหนดการเกษียณที่แน่นอน แต่ไม่ทราบแน่นนอนว่าจะต้องใช้เงินถึงเมื่อไร จึงจำเป็นต้องกำหนดจำนวน และกลยุทธ์การลงทุนอย่างเหมาะสม และ 3. Legacy Plan คือแผนการส่งมอบมรดก ที่อาจเตรียมไว้ในระยะสุดท้ายหากลูกค้ามองหาการวางแผนในระยะยาว ทั้งหมดนี้เป็นความยืดหยุ่นที่เราควรมีไว้ในแผนการเงินแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เราและลูกค้ามองเห็นความจำเป็นของการมีแผนการเงินแบบเฉพาะบุคคล และเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ”
“อย่าให้ผลลัพธ์ในระยะสั้น มาทำลายความฝันและผลลัพธ์ในระยะยาว ปัญหา และความท้าทายที่ต้องเจอของที่ปรึกษาและลูกค้าของแต่ละคนย่อมสร้างแสริมทักษะให้แก่ที่ปรึกษา การลงมืออย่างสม่ำเสมอ เท่านั้นจะช่วยพาเราผ่านพ้นช่วงเวลาที่อะไรอะไรไม่เป็นไปตามที่เราคิด เราจำเป็นที่จะต้องผ่านสายฝนแห่งความผิดหวัง และผู้อดทนเท่านั้นจะเห็นสายรุ้งแห่งความสำเร็จ” คุณปฏิพร กล่าวปิดท้าย
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com